นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล ได้จัดตั้งบริษัท เพชรศรีวิชัย จำกัด (“PC”) ในปี 2527 เพื่อประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางรถโดยเน้นเฉพาะการขนส่งสินค้าเหลวประเภทน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม ต่อมาในปี 2533 ได้จัดตั้งบริษัท พี.เค.มารีน เทรดดิ้ง จำกัด (“PKM”) เพื่อประกอบธุรกิจให้บริการพื้นที่คลังรับฝากน้ำมันปาล์ม คลังสินค้าทั่วไป ลานเทกอง และให้บริการท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้า ในปี 2535 ได้จัดตั้งบริษัท พี.ซี.มารีน (1992) จำกัด (“PCM”) เพื่อประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ในปี 2538 ได้จัดตั้งบริษัท ปาโก้เทรดดิ้ง จำกัด (“PACO”) เพื่อดำเนินธุรกิจซื้อและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันเมล็ดในปาล์ม เมล็ดในปาล์ม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากปาล์ม ให้กับลูกค้าในประเทศไทยและส่งออกไปต่างประเทศ ต่อมาในปี 2549 ได้จัดตั้งบริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด (“NBD”) เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล (Biodiesel: B100) ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบตั้งต้นคือน้ำมันปาล์มดิบ จึงทำให้กลุ่มบริษัทเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มแบบครบวงจร ที่มีความพร้อมการจัดการระบบซัพพลายเชน (Supply Chain) ครอบคลุมกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้แก่ โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มดิบ โรงผลิตน้ำมันไบโอดีเซล โรงผลิตน้ำมันปาล์มโอเลอีนเพื่อการบริโภค โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ให้บริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ ให้บริการขนส่งสินค้าทางรถ รวมถึงให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ

จากการที่นายประกิตฯ ได้พัฒนาต่อยอดธุรกิจจนมีชื่อเสียงในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจร ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 นายประกิตฯ ได้จัดตั้งบริษัท เพชรศรีวิชัย โฮลดิ้ง จำกัด (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ) เพื่อเป็นบริษัทโฮลดิ้ง (Holding Company) หลังจากนั้นในปี 2565 ก็ได้มีการจัดโครงสร้างกลุ่มบริษัทเพื่อเตรียมความพร้อมในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยนำบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเข้ามาเป็นบริษัทย่อยภายใต้การถือหุ้นของบริษัท ปัจจุบันบริษัทแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดและเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด (มหาชน)” (“บริษัท” หรือ “PCE”) มีบริษัทย่อยทั้งหมด 5 บริษัท และบริษัทร่วม 1 บริษัท (บริษัทที่กล่าวถึงจะเรียกรวมว่า “กลุ่มบริษัท”)

บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัท” หรือ “PCE”) ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ปัจจุบันมีการลงทุนในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจร ที่มีความพร้อมการจัดการระบบซัพพลายเชน (Supply Chain) โดยดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ประกอบด้วย โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มดิบ โรงงานผลิตน้ำมันไบโอดีเซล โรงงานผลิตน้ำมันปาล์มโอเลอีนเพื่อการบริโภค และโรงงานผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ดำเนินงานโดยบริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด (“NBD”) กระบวนการซื้อและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม อาทิ น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันเมล็ดในปาล์ม เมล็ดในปาล์ม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากปาล์ม โดยซื้อจากผู้ผลิตรายอื่นเพื่อนำมาจำหน่ายต่อให้กับลูกค้าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ดำเนินงานโดยบริษัท ปาโก้เทรดดิ้ง จำกัด (“PACO”) การให้บริการคลังรับฝากน้ำมันปาล์ม คลังสินค้าทั่วไป ลานเทกองเก็บสินค้า และให้บริการท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้า ดำเนินงานโดยบริษัท พี.เค.มารีน เทรดดิ้ง จำกัด (“PKM”) การให้บริการขนส่งสินค้าทางรถ ทั้งสินค้าเหลวและสินค้าแห้งในประเทศ ดำเนินงานโดยบริษัท เพชรศรีวิชัย จำกัด (“PC”) รวมถึงให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ดำเนินงานโดยบริษัท พี.ซี.มารีน (1992) จำกัด (“PCM”)

ในการเข้าไปลงทุนในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจร บริษัทจะเน้นการขยายธุรกิจให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

  • เป็นผู้นำอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร ที่มีความพร้อมการจัดการระบบซัพพลายเชน (Supply Chain)
  • มีทำเลที่ตั้งในทำเลยุทธศาสตร์ใกล้แหล่งวัตถุดิบ ลูกค้า และท่าเรือ
  • มีกระบวนการผลิต และกระบวนการควบคุมคุณภาพที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล

อัตราส่วนอยู่ที่ 27.27 % ขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป 750 ล้านหุ้น

บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในแต่ละปี ไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิ หลังจากหักสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายกำหนด โดยพิจารณาจากงบการเงินเฉพาะของบริษัท อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับกระแสเงินสด แผนการลงทุน เงื่อนไขทางกฎหมาย โดยบริษัทต้องคำนึงถึงความจำเป็นและความเหมาะสมของปัจจัยอื่นๆ ในอนาคต และการจ่ายเงินปันผลนั้นจะต้องไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานปกติของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

คณะกรรมการบริษัทได้เห็นควรให้มีการจัดทำนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเชื่อมั่นว่าการนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาใช้จะนำมาซึ่งการสร้างความสามารถในการแข่งขันมีการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิ และมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียเป็นการสนับสนุนสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยนโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัทครอบคลุมหลักปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2560 (Corporate governance code for listed companies 2017 หรือ CG Code) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงาน ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ

บริษัทมีนโยบายที่จะลงทุนในบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัท ตลอดจนลงทุนในบริษัทที่มีการประกอบธุรกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และแผนกลยุทธ์ในการเติบโต ซึ่งจะทำให้บริษัทมีผลประกอบการหรือผลกำไรเพิ่มขึ้น หรือลงทุนในธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ (Synergy) ให้กับบริษัท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจหลัก ในส่วนของบริษัทย่อย และ/หรือ บริษัทร่วมอาจพิจารณาลงทุนในธุรกิจอื่นเพิ่มเติมหากเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโต หรือสามารถต่อยอดทางธุรกิจ หรือเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของกลุ่มบริษัทที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในการลงทุน

ชื่อบริษัท ประเภทธุรกิจ สัดส่วนการถือหุ้น
บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด (“NBD”) ผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ น้ำมันปาล์มโอเลอีนเพื่อการบริโภค ผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้อื่นๆ รวมถึงการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า 98.18%
บริษัท ปาโก้เทรดดิ้ง จำกัด (“PACO”) ซื้อและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันเมล็ดในปาล์ม เมล็ดในปาล์ม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากปาล์ม ให้กับลูกค้าในประเทศไทยและส่งออกไปต่างประเทศ 99.99%
บริษัท พี.เค.มารีน เทรดดิ้ง จำกัด (“PKM”) ให้บริการคลังรับฝากน้ำมันปาล์ม คลังสินค้าทั่วไป ลานเทกองเก็บสินค้า และให้บริการท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้า 99.99%
บริษัท เพชรศรีวิชัย จำกัด (“PC”) ให้บริการขนส่งสินค้าทางรถทั้งสินค้าเหลวและสินค้าแห้ง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ น้ำมันปาล์มโอเลอีนเพื่อการบริโภค น้ำมันไบโอดีเซล ทะลายปาล์ม แร่ เหล็ก ปูนซีเมนต์ถุง เป็นต้น 99.99%
บริษัท พี.ซี.มารีน (1992) จำกัด (“PCM”) ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มีการให้บริการทั้งสินค้าเหลวและสินค้าแห้ง เช่น น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ น้ำมันปาล์มโอเลอีนเพื่อการบริโภค น้ำมันไบโอดีเซล ทะลายปาล์ม แร่ เหล็ก ปูนซีเมนต์ถุง เป็นต้น 99.99%
บริษัท ปาล์มดีศรีนคร จำกัด (“PDS”) ผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ ผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้อื่นๆ รวมถึงการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า 19.00%

สามารถสรุปโดยแยกกระบวนการหลักได้เป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย

  1. กระบวนการจัดหาวัตถุดิบและการผลิต (Sourcing and Manufacturing) ทั้งการจัดซื้อวัตถุดิบขั้นต้น (Raw Material) อาทิ CPO, CPKO เป็นต้น และวัตถุดิบขั้นกลาง (Semi-Raw Material) อาทิ RBDPO, PFAD, Used Oil เป็นต้น สำหรับการนำเข้าสู่สายการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล (B100) และการผลิตน้ำมันปาล์มโอเลอีนเพื่อการบริโภค (RBDPL)
  2. กระบวนการขาย (Trading) ทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากโรงงานของกลุ่มบริษัท และผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมาขายไป
  3. กระบวนการโลจิสติกส์ (Logistic) ซึ่งเป็นกระบวนการสนับสนุนการขายแบบครบวงจร ทั้งการจัดเก็บและการจัดส่งให้แก่ลูกค้าในประเทศไทยและการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ

กระบวนการจัดหาวัตถุดิบและการผลิตของ NBD เริ่มต้นจากการรับซื้อผลปาล์มสด (FFB) จากเกษตรกรในพื้นที่บริเวณโดยรอบโรงงาน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการของโรงสกัดน้ำมันปาล์มเพื่อผลิตเป็นน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบหลักของโรงกลั่นน้ำมันปาล์มสำหรับผลิตน้ำมันไบโอดีเซล (B100) และน้ำมันปาล์มโอเลอีนเพื่อการบริโภค (RBDPL) นอกจากนี้ยังมีการจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จากผู้ประกอบการโรงสกัดน้ำมันปาล์มรายอื่น และจัดซื้อวัตถุดิบขั้นกลาง (Semi Raw Material) อาทิ น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPO) กรดไขมันปาล์ม (PFAD) จากผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันปาล์มรายอื่นหรือผู้ค้าผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม (Trader) รวมไปถึงรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้ว (Used Oil) จากพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่ใช้น้ำมันพืชดังกล่าวประกอบอาหารไปแล้ว เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล และน้ำมันปาล์มโอเลอีนเพื่อการบริโภคเช่นกัน ในส่วนของน้ำมันปาล์มโอเลอีนหรือน้ำมันพืชเพื่อการบริโภคจะจำหน่ายภายใต้ตราสินค้า “รินทิพย์”

กระบวนการขายในส่วนของการซื้อมาขายไปดำเนินการโดย PACO ที่ทำธุรกิจซื้อ – ขายน้ำมันปาล์มดิบและผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง โดยรับซื้อจากผู้ประกอบการรายอื่น และขายให้กับลูกค้าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ การประกอบธุรกิจของ NBD และ PACO จำเป็นต้องอาศัยบริการคลังรับฝากน้ำมันปาล์มจาก PKM เพื่อจัดเก็บวัตถุดิบและบริหารจัดการวัตถุดิบหรือสินค้า โดยมีพื้นที่การให้บริการในอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมถึงให้บริการท่าเรือ (ทั้ง 2 พื้นที่) รองรับการขนย้ายสินค้าระหว่างอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปยังอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และการขนส่งสินค้าไปขายให้กับลูกค้าต่างประเทศ ทำให้การขายสินค้าของ NBD และ PACO มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และรองรับกับความต้องการที่หลากหลายของลูกค้ามาอย่างยาวนาน

สำหรับกระบวนการโลจิสติกส์ในส่วนของการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าของ NBD และ PACO รวมถึงการรับจ้างขนส่งให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่น แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การขนส่งสินค้าทางรถ (จ้างบริการของ PC) และการขนส่งสินค้าทางเรือ (จ้างบริการของ PCM) โดย PC จะให้บริการขนส่งทางรถภายในประเทศไทยเป็นหลัก สำหรับ PCM สามารถให้บริการขนส่งสินค้าเพื่อส่งให้กับลูกค้าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ทำให้ NBD และ PACO สามารถวางแผนการขายและจัดส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนโดยรวมให้แก่ลูกค้าได้ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางตรงคือราคาสินค้าที่ซื้อจากกลุ่มบริษัท หรือต้นทุนทางอ้อมคือเวลาในการได้รับสินค้าที่รวดเร็วกว่า จึงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สร้างการยอมรับจากลูกค้าในวงกว้างมาอย่างยาวนาน

กลุ่มบริษัทให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิต กระบวนการบริหารจัดการและกระบวนการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ จึงได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่ากระบวนการผลิตและการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทสอดคล้องกับมาตรฐานในระดับสากล โดยได้รับการรับรองมาตรฐานต่างๆ ดังนี้

  • ISO 9001:2015 ระบบบริหารงานคุณภาพ
  • ISO 14001:2015 ระบบมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
  • GHPs ระบบมาตรฐานหลักปฏิบัติสุขลักษณะที่ดีในการผลิต
  • GMPs ระบบมาตรฐานสุขลักษณะที่ดีในการผลิตอาหาร
  • HACCP ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม
  • HALAL การรับรองการผลิตอาหารของศาสนาอิสลาม
  • KOSHER การรับรองการผลิตอาหารของศาสนายิว
  • RSPO ระบบมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน
  • ISCC การรับรองคาร์บอนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศ

กลุ่มบริษัทมีนโยบายห้ามกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างกระทำการอันใดที่เป็นการเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้รับ ผู้ให้ หรือเสนอให้สินบนแก่บุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง และให้มีการสอบทานนโยบายและแนวปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย โดยมีรายละเดียดดังนี้

  1. บริษัทและกลุ่มบริษัทมุ่งมั่นที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
  2. บุคลากรของบริษัทและกลุ่มบริษัทต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและจริยธรรมทางธุรกิจ โดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อมุ่งหวังประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยกรรมการ และ ผู้บริหารต้องปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดี และกำกับให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
  3. บริษัทและกลุ่มบริษัทจัดให้มีระบบควบคุมภายในที่คำนึงถึงการควบคุมความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นรวมทั้งประเมินความเสี่ยงและกำหนดมาตรการจัดการความเสี่ยงอย่างเพียงพอและเหมาะสม
  4. บริษัทจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบระบบและขั้นตอนการปฏิบัติงานขายและการตลาด รวมทั้งงานจัดซื้อ/จัดจ้างให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสตามระเบียบและกระบวนการของบริษัท รวมถึงการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตคอร์รัปชั่นและบริหารจัดการให้มีวิธีการแก้ไขที่เหมาะสม

หากพบเห็นหรือมีพยานหลักฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน หรือผู้กระทำการแทนของบริษัท ในเรื่องการประพฤติที่ไม่เหมาะสม ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ จรรยาบรรณธุรกิจ หรือนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี ผู้พบเห็นสามารถรายงานต่อผู้ที่รับผิดชอบ ดังต่อไปนี้

  1. ผู้บังคับบัญชาที่ตนเองไว้วางใจในทุกระดับ
  2. หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนั้นโดยตรง
  3. ผ่านระบบ online บนเว็ปไซต์ของบริษัท https://www.pce-th.com/
  4. กล่องรับเรื่องร้องเรียนภายในบริษัทหรือทุกสาขาของบริษัท
  5. ทางโทรศัพท์: 077-284917-9 ต่อ 243
  6. ทางอีเมล์: cs@pce-th.com
  7. ทางไปรษณีย์: “สำนักงานเลขานุการบริษัท บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 99/19 หมู่ 4 ถนนกาญจนวิถี ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฏร์ธานี จังหวัดสุราษฏร์ธานี 84000”

กลุ่มบริษัทมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าในประเทศทั้งหมดผ่านทีมฝ่ายขาย ซึ่งจะทำหน้าที่ติดต่อและนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าโดยตรงทั้งลูกค้าเดิม ลูกค้ารายใหม่ และลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเจรจาเกี่ยวกับรายการสินค้าที่จะซื้อขาย เงื่อนไขการชำระราคา และปริมาณสินค้าที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งในการขายสินค้ากลุ่มบริษัทจะจัดส่งสินค้าให้ถึงโรงงานลูกค้า หรือให้ลูกค้ามารับสินค้าที่หน้าโรงงาน ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมายาวนานที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ และมีการติดต่อซื้อขายกับกลุ่มบริษัทอย่างสม่ำเสมอ

ในส่วนของการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าต่างประเทศ ปัจจุบันบริษัทมีการขายสินค้าให้แก่บริษัทโบรคเกอร์ในต่างประเทศ ซึ่งประกอบธุรกิจจัดซื้อสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อไปจำหน่ายต่อให้กับคู่ค้าในประเทศต่างๆ อาทิ มาเลเซีย อินเดีย บังคลาเทศ เป็นต้น โดยปัจจุบันบริษัทมีการติดต่อค้าขายกับบริษัทโบรคเกอร์ในต่างประเทศเป็นประจำจำนวน 2 ราย โดยในการติดต่อและเจรจาการซื้อขาย ฝ่ายขายของบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบในการเจรจา ต่อรอง และข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์หรืออีเมล

บริษัทและบริษัทย่อย (“กลุ่มบริษัท”) มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยกลุ่มบริษัทได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ รวมทั้งความสำคัญในการได้รับการพิจารณาว่าเป็นองค์กรที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) (“ESG”) ด้วยการเลือกใช้เครื่องจักร และกระบวนการผลิต รวมถึงระบบการขนส่ง ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกลุ่มบริษัท มีระบบการบริหารจัดการเพื่อป้องกันผลกระทบด้านความปลอดภัย สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคมจากการดำเนินงานให้น้อยที่สุด และอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างเกื้อกูลโดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานอย่างโปร่งใส เพื่อให้กลุ่มบริษัท และสังคมเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กัน

การดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทจึงให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) ในทุกขั้นตอน เช่น การพัฒนาสินค้าและบริการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานในทุกขั้นตอน การลดการปล่อยมลภาวะและของเสีย การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการกำหนดมาตรฐานเรื่องสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัทจึงกำหนดนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม และกำหนดเป้าหมายการจัดการด้านความยั่งยืนของกลุ่มบริษัทให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ตามแนวทางของ UN Global Compact

บริษัทมีความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้มีการวาง Road map เพื่อให้สอดคล้องกับการประกาศ ใน COP 26 ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มบริษัทยังไม่ได้มีการจัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ทั้งนี้กิจกรรมหลักของกลุ่มบริษัทที่จะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกแบ่งออกเป็น 2 ด้านด้วยกัน ได้แก่

ด้านที่ 1 เกิดจากการกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มบริษัทโดยตรง เช่น การเผาไหม้ของเครื่องจักร การใช้พาหนะ การใช้สารเคมี และระบบทำความเย็น

ด้านที่ 2 เกิดจากกิจกรรมทางอ้อม เช่น การซื้อไฟฟ้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้บริษัทได้มีการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์กับทุกผลิตภัณฑ์