06 กรกฎาคม 2566

ประกิต ประสิทธิ์ศุภผล แม่ทัพใหญ่อาณาจักร "เพชรศรีวิชัยฯ"

“ประกิต ประสิทธิ์ศุภผล เฮียหลี” แม่ทัพใหญ่อาณาจักร "เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์" PCE จากธุรกิจโลจิสติกส์ขนส่งน้ำมันมะพร้าว สู่ผู้นำธุรกิจน้ำมันปาล์มครบวงจร ให้บริการตั้งแต่การผลิต จัดเก็บ ขนส่ง ตลอดจนเป็นผู้จัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์มทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ จัดแถวปรับโครงสร้างองค์กร ตั้งโฮลดิ้งแต่งตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชน โชว์รายได้กลุ่มธุรกิจ PCE ปี 2565 กว่า 3.2 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าปี 2566 โตไม่ต่ำกว่า 10%

นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PCE เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของเพชรศรีวิชัย ว่า บริษัทได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปาล์มครบวงจรในอนาคต เพื่อยกระดับองค์กรสู่มาตรฐานสากล และการเติบโตอย่างยั่งยืน จุดเริ่มต้นของ PCE มาจากธุรกิจรับจ้างขนส่งน้ำมันมะพร้าว ในปี 2518 ด้วยรถบรรทุกเพียงแค่คันเดียว ในนามบริษัท เพชรศรีวิชัย จำกัด โดยรับจ้างขนส่งน้ำมันมะพร้าวจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี มาส่งที่กรุงเทพมหานคร เป็นการขนส่งทางเดียว ขากลับต้องตีรถเปล่า ทำให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายสูง จึงคิดหาวิธีที่ทำอย่างไรไม่ให้การขนส่งเสียเปล่าในช่วงขากลับ จึงคิดที่สร้างรายได้เพิ่ม จากธุรกิจเดิมของครอบครัวที่มีปั๊มลอยน้ำ ขายน้ำมันดีเซลให้เรืองประมงขนาดเล็กในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเห็นว่าราคาน้ำมันดีเซลในกรุงเทพฯ มีราคาถูกกว่าที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประมาณ 40 สตางค์ต่อลิตร จึงซื้อน้ำมันดีเซลจากกรุงเทพฯ กลับมาขายที่สุราษฎร์ธานี เพื่อกินส่วนต่าง ซึ่งหักค่าโสหุ้ยประมาณ 10 สตางค์/ลิตร จะเหลือกำไรลิตรละประมาณ 30 สตางค์/ลิตร

ในระยะเวลา 1 เดือน รถจะวิ่งไปส่งน้ำมันมะพร้าวประมาณ 12 เที่ยว/เดือน สามารถขนน้ำมันดีเซลกลับมาได้ร่วมแสนลิตร/เดือน ลำพังจะขายเองคงไม่หมด ซึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีปั๊มลอยน้ำอยู่หลายแห่งที่ขายให้เรือประมงในพื้นที่ จะไปตัดราคาแย่งลูกค้าจากปั๊มอื่นๆ คงไม่เกิดประโยชน์ เลยคิดว่าสู้เอาปั๊มพวกนั้นมาเป็นลูกค้าน่าจะดีกว่าไปแย่งลูกค้าเขา โดยขายส่งให้ปั๊มต่างๆ ในราคาที่ Win-Win ไม่ต้องเอากำไรเยอะ แต่เน้นปริมาณยอดขายเยอะ ซึ่งธุรกิจไปได้ดี และขยายกิจการไปเรื่อยๆ จนมีรถบรรทุกขนส่งน้ำมันเพิ่มมากขึ้นเป็น 6 คัน ในปี 2522

บริษัท เพชรศรีวิชัย จำกัด

การขนส่งน้ำมันมะพร้าวจะมีข้อจำกัดและปัญหาเรื่องฤดูกาล ที่มีผลผลิตไม่ตลอดทั้งปี จึงมีช่วงที่ต้องหยุดขนส่งน้ำมันมะพร้าวบ้าง แต่ในขณะเดียวกัน ต้องหาน้ำมันดีเซลมาส่งให้ลูกค้าในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้เริ่มเห็นปัญหา โดยเฉพาะช่วงไม่มีน้ำมันมะพร้าว กลายเป็นว่าจะต้องวิ่งรถเปล่าจากสุราษฎร์ธานี เพื่อมารับน้ำมันไปขาย เป็นการขนส่งทางเดียว ทำให้สิ้นเปลืองค่าขนส่ง ปัญหาเดิมเริ่มกลับมา

จากปัญหากลับเป็นจุดเปลี่ยนธุรกิจใหม่

ในปี 2526 ธุรกิจน้ำมันปาล์มเริ่มขยาย มีโรงงานทักษิณปาล์ม มาเปิดที่สุราษฎร์ธานี จึงขยับขยายเข้าไปวิ่งรับขนส่งน้ำมันปาล์ม เป็นการแก้ปัญหาของการขนส่งทางเดียว แต่เจออุปสรรคตามมา เพราะบริษัทรับซื้อน้ำมันปาล์มจะรับซื้อจากหลายที่ และไม่มีระบบรองรับลูกค้าที่ดีพอ ทำให้เวลารถไปส่งน้ำมันปาล์มต้องไปจอดต่อคิวนานถึง 5 วัน ทำให้บริษัทต้องเสียการใช้ทรัพยากรรถ ไม่มีรถไปส่งน้ำมัน ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้ต้องคิดหาวิธีแก้ปัญหาด้วยแนวคิดที่ว่าต่อไปสั่งน้ำมันกี่คัน เราจะส่งน้ำมันให้เสร็จภายใน 3-4 ชั่วโมง ซึ่งการจะขนส่งที่รวดเร็ว และได้ประสิทธิภาพคือ การขนส่งทางน้ำ และยังเป็นการขนส่งขนได้ในปริมาณที่เยอะกว่า แถมต้นทุนถูกกว่า ทำให้เกิดแนวคิดทำท่าเรือ จึงตั้งบริษัท พี.เค.มารีน เทรดดิ้ง จำกัด ในปี 2533 ให้บริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ ซึ่งขณะนั้นเรามีท่าอยู่แล้วที่บางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นท่าคลังน้ำมันดีเซล จึงได้เพิ่มคลังน้ำมันปาล์มขึ้นมาอีก 2 ใบที่บางปะกง แยกเป็นคลังน้ำมันดีเซล และคลังน้ำมันปาล์ม และทำอีก 2 ใบไว้รองรับที่ท่าเรือที่สุราษฎร์ธานี

บริษัท พี.ซี.มารีน (1992) จำกัด

หลังทำคลังน้ำมันเสร็จ ได้ซื้อเรือบรรทุกน้ำมัน จึงตั้ง บริษัท พี.ซี. มารีน (1992) จำกัด ในปี 2535 เพื่อประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ เริ่มต้นจากการให้บริการขนส่งสินค้าเหลว น้ำมันปาล์มดิบ จากท่าเรือสุราษฎร์ธานี ไปท่าเรือบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ยังมีปัญหาตามมาให้ต้องแก้ไขอีก เพราะเรือบรรทุกน้ำมันวิ่งได้ 1,500 ตัน/เที่ยว 1 เดือนวิ่งได้เป็น 10 เที่ยว หรือหมื่นกว่าตัน แต่ลูกค้าหลักเราส่งน้ำมันปาล์มให้แค่ 500 ตัน/เที่ยวเท่านั้น

ผู้ขายน้ำมันปาล์มขายให้ผู้ซื้อที่ราคากิโลละ 30 บาท หักต้นทุนค่าขนส่งทางรถกิโลละ 1 บาท จะเหลือราคากิโลละ 29 บาท เราไปต่อรองขอซื้อจากผู้ขายในราคากิโลละ 29.10-29.20 บาท คนขายมีความรู้สึกว่าขายได้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าเดิม และเราไปเจรจากับผู้ซื้อปลายทาง จากที่เคยซื้อที่ราคา 30 บาท ถ้าซื้อจากเราคิดราคาแค่ 29.30-29.90 บาท ซึ่งผู้ซื้อก็ซื้อได้ถูกลง คือ เอาราคาส่วนต่างต้นทุนค่าขนส่งมาเล่น

เมื่อผู้ขายน้ำมันปาล์มรู้สึกว่าสะดวกดี เพราะขายด้วยน้ำหนักต้นทาง ในราคาปลายทางราคาที่แพงกว่า ผู้ซื้อรู้สึกว่าซื้อได้ในราคาที่ถูกลง ต่างฝ่ายต่างก็ WIN-WIN-WIN เลยทำให้เรามีลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เราเริ่มโต และเริ่มทำธุรกิจทางเรือมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ปาล์มเริ่มมีการบริโภคมากขึ้น เกษตรกรมีพื้นที่เพาะปลูกปาล์มมากขึ้น ผลผลิตจึงมากขึ้นตามไปด้วย จากอดีตผลผลิตปาล์มปีละ 4-5 แสนตัน จนปัจจุบันมาเป็น 7-8 แสนตัน

บริษัท ปาโก้เทรดดิ้ง จำกัด

ในปี 2538 จึงตั้งบริษัท ปาโก้เทรดดิ้ง จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบ ซึ่งบางช่วงผลผลิตเยอะ ราคาจะถูก บางช่วงผลผลิตน้อย ราคาก็แพง ซึ่งสมัยก่อนบางครั้ง มีการซื้อขายล่วงกันหน้าบ้าง แต่ปรากฏว่าพอราคาขึ้น ผู้ขายไม่ส่ง และพอราคาลงผู้ซื้อไม่รับ จึงเกิดความคิดจะทำอย่างไรราคามันนิ่ง โดยมองแนวโน้มราคาในอนาคต หากเห็นว่าแนวโน้มราคาลงเราก็ซื้อเอามาเก็บไว้ที่คลัง ซึ่งเราทำอยู่เจ้าเดียว ทำให้ปัจจุบันผู้ซื้ออยากซื้อติดต่อมาที่เรา ส่วนคนขายอยากขาย ก็มาขายให้กับเรา จนกลายเป็นคนกลางไปโดยปริยาย และทำให้เรามีสต๊อกน้ำมันปาล์มค่อนข้างเยอะ

ตอนนั้นผลผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศมีประมาณ 7-8 แสนตัน แต่การบริโภคในประเทศเพียง 4 แสนตัน 3 แสนตันที่เหลือ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมือของ บ.ปาโก้เทรดดิ้ง ถ้าราคาช่วงนั้นถูก ปาโก้เทรดดิ้งจะเป็นผู้ส่งออก เพื่อให้สต๊อกใกล้เคียงกับปริมาณการใช้ในประเทศ ต่อมา มีการใช้น้ำมันปาล์มเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซล หรือ "ไบโอดีเซล" โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 นำมาเป็นส่วนผสมเพื่อใช้กับรถ และเครื่องจักรที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลใช้ในวัง และในปี 2548-2549 เริ่มมีการพูดถึงพลังงานทดแทน โดยการใช้น้ำมัน "ไบโอดีเซล" กันมากขึ้น และรัฐเริ่มสนับสนุนผลักดันเรื่องนี้

ดังนั้น มีความคิดว่าถ้าเกิดผลผลิตน้ำมันปาล์ม ส่วนที่เกินจากการบริโภคในประเทศ 3 แสนตัน ถูกนำไปเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซล มาร์เกตแชร์ในการส่งออกผลผลิตน้ำมันปาล์มของเราจะลดลง แล้วจะทำอย่างไรเพื่อรักษามาร์เกตแชร์ของเราไว้ได้ ประกอบกับช่วงนั้นราคาน้ำมันดีเซล ต่างจากราคาน้ำมันปาล์มถึง 9 บาท เลยคิดตั้งโรงงานผลิตและแปรรูปน้ำมันปาล์ม โดยเดือนมิถุนายน พ.ศ.2549 จึงตั้งบริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันพืชสำหรับการบริโภค ลงทุนสร้างโรงงงานผลิตและแปรรูปน้ำมันปาล์ม ด้วยเงินลงทุน 360 ล้านบาท ขนาดกำลังผลิต 400 ตัน แบ่งเป็นผลิตน้ำมันไบโอดีเซล 200 ตัน และผลิตน้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันพืชสำหรับการบริโภคอีก 200 ตัน

บริษัท นิวไบโอดีเซล

หลังจากนั้น รัฐบาลมีนโยบายเรื่องพลังงานทดแทนออกมา ทำให้ปาล์มเริ่มขยายตัว และราคาน้ำมันปาล์มเริ่มอิงกับน้ำมันดีเซล ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จากอดีตเกษตรกรมีพื้นที่เพราะปลูกปาล์มประมาณ 6-7 แสนไร่ มีผลผลิตน้ำมันปาล์ม 3 แสนตัน/ปี ปัจจุบันมีพื้นที่เพราะปลูก 6 ล้านไร่ ผลผลิตประมาณ 3 ล้านตัน น้ำมันดีเซลเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ใช้ประมาณ 50 ล้านลิตร/วัน ปัจจุบันวันละประมาณ 65 ล้านลิตร มีสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์มผสมในดีเซลอยู่ที่ 9 แสนตันถึง 1.5 ล้านตัน/ปี

ขณะนี้บริษัทได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเรียบร้อยแล้ว โดยใช้ชื่อบริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (PCE) (มหาชน) เพื่อยกระดับองค์กรสู่มาตรฐานสากลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ให้สอดคล้องกับแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนับเป็นอีกก้าวที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อม และศักยภาพของ PCE ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปาล์มครบวงจรในอนาคต

ปีนี้บริษัทตั้งเป้าเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปี 2565 ที่มีรายได้ 32,6771 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 214 ล้านบาท โดยจะเน้นการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้มีมาตรฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและขยายฐานลูกค้าในทุกกลุ่มธุรกิจ ควบคู่ไปกับการบริหารงานด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ด้วยการบริการที่ครบวงจรและสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้ลูกค้า ตลอดจนวางรากฐานและปรับโครงสร้างธุรกิจให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ภายใต้กลุ่ม PCE ประกอบด้วย

  • บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันพืชสำหรับการบริโภค ภายใต้ตราสินค้า “รินทิพย์” โดยโรงงานรีไฟน์น้ำมันปาล์ม สามารถผลิตได้ 1,800 ตัน/วัน แบ่งเป็นน้ำมันปาล์มสำหรับบริโภคกึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูปได้วันละ 1,000 ตัน และสำหรับผลิตเป็น B100 เพื่อเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลได้อีก 1.2 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนโรงงานสกัดผลปาล์มที่รับซื้อจากเกษตรกรสามารถผลิตได้อีก 1,800 ตันต่อวัน /หรือปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 ตัน
  • บริษัท ปาโก้เทรดดิ้ง จำกัด ประกอบธุรกิจซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันเมล็ดในปาล์ม เมล็ดในปาล์ม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากปาล์ม โดยจัดจำหน่ายให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีปริมาณและมูลค่าการซื้อขายและส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ
  • บริษัท เพชรศรีวิชัย จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางบกภายในประเทศซึ่งมีรถให้บริการมากกว่า 150 คัน และขนส่งน้ำมันปาล์มได้ปีละไม่ต่ำกว่า 800,000 ตัน นอกจากนี้ ยังมีการขนส่งสินค้าแห้งและอื่นๆตลอดทั้งปี
  • บริษัท พี.ซี.มารีน (1992) จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีขนาดเรือ 2,000-2,500 ตัน ซึ่งสามารถขนส่งได้ทั้งของแห้งและของเหลว รวม 15 ลำ โดยขนส่งสินค้าได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน
  • บริษัท พี.เค. มารีน เทรดดิ้ง จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ มีพื้นให้บริการกว่า 100,000 ตร.ม. และมีคลังน้ำมันที่สามารถรองรับปริมาณได้ถึง 240,000 ตัน โดยมีท่าเทียบเรือทั้งในจังหวัด สุราษฎร์ธานี และจังวัดฉะเชิงเทรา (อ.บางปะกง)

ที่มา: https://mgronline.com/stockmarket/detail/9660000061348